Friday, May 7, 2010

2 ยี่ห้อดัง (โตโยต้า-อีซูซุ) แชมป์รถหาย ตำรวจยกเครื่องลุยโจร

โตโยต้า-อีซูซุ สลับครองตำแหน่งรถหายมากสุด ส่วนรถจักรยานยนต์ ฮอนด้า ขึ้นแท่น ที่สำคัญเขตนครบาลคว้าแชมป์ท้องที่รถหายอันดับหนึ่ง แต่ปีนี้ตำรวจยิ้มออกเหตุยอดรถหายทั่วประเทศลดลงเฉลี่ยเดือนละ 200 กว่าคัน แถมหลังเปลี่ยนแม่ทัพได้มีการยกเครื่องกำลังพลใหม่เพื่อลุยปราบปรามโจรกรรมรถยนต์แบบทันควัน ..ยอมรับรู้ทุกช่องทางการขโมย แม้ล่าสุดพบโจรเปลี่ยนวิธีใหม่ทั้งดาวน์รถขับไปส่งและแจ้งทำทีรถหาย หรือปลอมทะเบียนขายต่อ ..เชื่อจัดการได้พร้อมเตรียมเชื่อมด่านสกัด 51 จุดตัดทางส่งรถออกไปประเทศเพื่อนบ้าน แนะเจ้าของรถอย่าจอดรถล่อใจโจร

“รถหาย” เหตุการณ์ที่ไม่มีเจ้าของรถคนใดอยากเจอ แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร “ตำรวจ” คือที่พึ่งแรกของประชาชน โดยในอดีตตำรวจเคยมีศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ แต่ปัจจุบันได้มีการยกเลิกศูนย์ดังกล่าวทำให้มีข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น? แล้วประชาชนจะทำอย่างไรหากรถหาย

ตำรวจปรับกลยุทธ์ใหม่

เดิมสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์, รถจักรยานยนต์ และศูนย์ปราบปรามอื่นๆ อีกหลายประเภท แต่หลังจาก พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้ามารับตำแหน่งได้ปรับลักษณะการทำงานใหม่ โดยยุบศูนย์ฯ และเปลี่ยนเป็นหน้างานแทน ซึ่งในทางทฤษฎีจะมีผลให้การทำงานดีขึ้น เนื่องจากในระดับปฏิบัติการของโรงพักไม่ว่าจะมีกี่ศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ทำงานจะเป็นชุดเดียวกัน

เมื่อปรับลักษณะงานใหม่ พล.ต.ท. ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. (สป1) ได้เข้ารับผิดชอบงานด้านปรามปรามการโจรกรรมรถยนต์และจักรยานยนต์พร้อมเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยปฏิบัติงานด้านปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ทันที และมีการตั้งทีมประสานเพื่อให้การทำงานครอบคลุม

ทั้งนี้ จากการประชุมใหญ่ของตำรวจสายปราบปรามระดับหัวหน้างานขึ้นไปปรากฎว่าเสียงส่วนใหญ่ของตำรวจโหวตให้ เรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนของสายงานปราบปรามก็คือ “งานด้านการโจรกรรมรถยนต์” เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างให้กับเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

นครบาลหายมากสุด

สำหรับท้องที่ซึ่งมีสถิติรถหายมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร พื้นที่รับผิดชอบของตำรวจนครบาล ส่วนท้องที่ลำดับรองลงมาคือ ภูธรภาค 1, 2 และ 7 โดยนครบาลมีตัวเลขสถิติแจ้งรถยนต์หาย ปี 2550 ช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) จำนวน 411 คัน ส่วนรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 2,580 คัน เท่ากับ1 ใน 4 ของจำนวนรับแจ้งรถหายทั่วประเทศอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ตัวเลขสถิติรถหายจะมากระจุกตัวอยู่ในเขตนครบาล เพราะจำนวนรถเขตกรุงเทพมหานครมีจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่อันจำกัดของชีวิตคนเมืองทำให้เจ้าของรถหลายๆ คัน จำเป็นต้องจอดรถไว้ในสถานที่เสี่ยงต่อการสูญหาย ซึ่งเป็นเหตุให้มิจฉาชีพลงมือโดยง่าย

ขณะที่ยี่ห้อรถยอดนิยมของการถูกโจรกรรมสอดคล้องกับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศไทย โดยรถปิกอัพมีสถิติถูกโจรกรรมมากสุดได้แก่ โตโยต้า และอีซูซุ, รถเก๋ง ได้แก่ โตโยต้าและฮอนด้า ส่วนรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้าครองตำแหน่งหายมากที่สุด

แนวโน้มหายน้อยลง

แม้จำนวนรถหายจะเพิ่มขึ้นแต่หากเมื่อพิจารณาดูถึงตัวเลขยอดจำหน่ายทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติรถหายจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนคันปี 2549 แต่สถิติรถหายกลับเพิ่มเพียงเล็กน้อยคือประมาณ 20 กว่าคัน ส่วนยอดขายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นปีละเกือบ 2 ล้านคัน แต่หายเพิ่มเพียงไม่กี่พันคัน ดังนั้นการจะพูดว่ารถหายเพิ่มขึ้นคงจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

จากการที่สถิติรถหายมีแนวโน้มลดลง เมื่อดูจากตัวเลขสถิติการสูญหายปี 2550 เทียบกับปี 2549 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น เกิดจากการขยายผลของตำรวจ ที่รู้ว่าเมื่อรถหายแล้วไปอยู่ไหน ทำให้สามารถติดตามแหล่งที่รถหายไปได้ดีขึ้น

ช่องทางรถหาย-โจรกรรมแบบใหม่

ตำรวจอธิบายว่า เดิมรถที่โดนโจรกรรมช่องทางหนึ่งจะถูกชำแหละ ถอดขายเป็นชิ้นส่วนอะไหล่ อีกช่องทางคือส่งขายต่างประเทศ เช่น เขมร พม่า ลาว หรือช่องทางที่ 3 รถที่ขโมยไปสวมซากรถที่มีทะเบียนถูกต้อง แล้วนำไปขาย หรือนำรถที่ขโมยไปปลอมคู่มือจดทะเบียนและแผ่นป้ายทะเบียน ทั้งเอาไปขายและใช้เอง นอกจากนั้นยังมีการขโมยรถจากต่างประเทศเอาสวมซากแล้วขายในบ้านเรา

“เชื่อว่า หากตำรวจท้องที่ขยันออกตรวจตามเต้นท์ขายรถมือสอง จะต้องพบรถผิดกฎหมายซ่อนอยู่อย่างแน่นอน” หนึ่งในคำปรารภของ พล.ต.ท. ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ที่เอ่ยออกมา โดยมุ่งหวังให้ผู้ใต้บังคับบัญชาออกปฏิบัติงานเพื่อประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งในปัจจุบัน การโจรกรรมเปลี่ยนรูปแบบไป เริ่มมีลักษณะของการทำฉ้อฉลประกันภัย คือ คนร้ายจะไปเช่าซื้อรถจากบริษัทไฟแนนซ์ แล้วเอาไปขายต่างประเทศ จากนั้นไปแจ้งความว่ารถถูกขโมย เพื่อขอรับเงินจากบริษัทประกันภัย ซึ่งพฤติกรรมนี้ทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากและเกิดปัญหากับตำรวจเช่นกันเพราะความจริงรถไม่ได้หาย แต่เป็นการฉ้อฉล โดยขณะนี้ตำรวจกำลังเร่งประสานกับบริษัท ประกันภัยเพื่อขอข้อมูล และหาวิธีจัดการอยู่

ไม่เพียงแต่บริษัทประกันภัยเท่านั้นที่เสียหาย บริษัทเช่ารถก็โดนในลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยคนร้ายจะปลอมโฉนดที่ดินหรือหลักประกันอื่นอาทิ สมุดธนาคาร แล้วเอาไปเช่ารถจาก บริษัทเช่ารถยนต์ เมื่อได้รถที่เช่ามาแล้ว จะเรียกค่าไถ่รถจากบริษัทเช่ารถ หรือไม่ก็นำไปขายยังต่างประเทศ รูปแบบใหม่อีกวิธีหนึ่งคือนำเอารถที่โจรกรรม, เช่า หรือรับจำนำ มาปลอมทะเบียน แล้วขายทางนสพ. อินเตอร์เน็ต ขายตรงให้กับผู้ซื้อรถโดยทั่วไป ทั้งหมดเป็นพัฒนาการของขโมยยุคใหม่ที่ตำรวจกำลังเร่งจัดการอยู่

สำหรับวิธีการป้องกันรถหาย ทางตำรวจแนะนำว่า ไม่ควรนำรถมาจอดในที่สาธารณะ หรือหากมีเหตุจำเป็นเช่นไปเดินซื้อของก็ควรนำรถไปจอดในจุดที่มีคนดูแล อาจจะต้องเสียเงินบ้างเล็กน้อยแต่ดีกว่ารถหายทั้งคัน เพราะจากสถิติสถานที่ซึ่งเกิดเหตุโจรกรรมมากที่สุดคือ จุดที่เป็นทางสาธารณะ เช่นหน้าบ้าน ริมถนน หรือตามซอยต่างๆ

เทียบสถิติรถหาย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยตัวเลขสถิติการโจรกรรมรถยนต์ทั่วประเทศ พ.ศ. 2548 มีการแจ้งความรถยนต์สูญหาย 2,820 คัน สกัดจับได้รถคืน 194 คัน พ.ศ. 2549 สูญหาย 2,841 คัน ได้คืน 186 คัน และพ.ศ. 2550 เฉพาะ 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.) สูญหาย 888 คัน ได้คืน 102 คัน

ส่วนรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2548 สูญหาย 17,523คัน ได้คืน 2,382 คัน พ.ศ. 2549 สูญหาย 20,478 คัน ได้คืน 2,686 คัน พ.ศ. 2550 เฉพาะ 4 เดือน(ม.ค.-เม.ย.) สูญหาย 6,418 คัน ได้คืน 1,033 คัน ตัวเลขทั้งหมดเป็นการรายงานเบื้องต้นหมายถึงมีการแจ้งความว่ารถหายและสกัดจับได้ทันทีหลังจากนั้นอีก1 เดือน หรือ 2 เดือน มีการสืบจับได้รถคืนแต่ไม่มีการเก็บสถิติเอาไว้ และในความเป็นจริงรถหายอาจจะมีมากกว่านี้ เพราะประชาชนบางคนรถหายแล้วไม่แจ้งความมีอยู่บ้าง

สถิติรถหายและการได้คืน
ปี 2548 ปี 2549 ปี 2550 (ม.ค.-เม.ย.)
ประเภทรถ สูญหาย ได้คืน สูญหาย ได้คืน สูญหาย ได้คืน
รถยนต์ 2,820 194 2,841 186 888 102
รถจักรยานยนต์ 17,523 2,382 20,478 2,686 6,418 1,033

รถหายแจ้ง 191

หากเกิดเหตุรถหาย สิ่งแรกที่ควรทำคือโทรศัพท์ แจ้ง 191 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลในส่วนของวิทยุเพื่อสกัดจับตลอด 24 ชม. แล้วจึงไปแจ้งความที่โรงพัก

ปัญหาของตัวเลขการสกัดจับได้รถคืนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนที่แจ้งความสูญหาย ก็เนื่องจากขาดติดต่อประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ซึ่งรับแจ้งเหตุกับด่านทั้ง 51 แห่งตามแนวชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตรงจุดนี้ตำรวจกำลังตั้งคณะทำงานเพื่อประสานงานหลังรับแจ้งเหตุรถหายจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดสกัดชายแดนได้ทราบถึงข้อมูล ยี่ห้อและลักษณะของรถที่ถูกโจรกรรม อันเป็นเบาะแสที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถสกัดจับรถต้องสงสัยได้ ที่ผ่านมาจุดสกัดตามแนวชายแดนทั้ง 51 แห่งนี้ไม่ได้รับรายงานเรื่องลักษณะของรถที่ถูกโจรกรรม ทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

“เรารู้ทุกช่องทางของการพารถหนี แต่ปัญหาคือ ไม่มีการให้ข้อมูลรถคันที่หายแก่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งประจำอยู่ ณ จุดตรวจ เช่น เมื่อลักรถมาแล้วจะเอารถออกทางจังหวัดสระแก้ว จะต้องใช้เส้นทางกระบินทร์ ซึ่งตำรวจทางหลวงมีด่านอยู่ ถ้าตำรวจตรงนั้นตั้งใจทำงานออกตรวจ เชื่อว่าจะสามารถจับกุมได้ทุกวัน แต่ติดปัญหาเรื่องข้อมูลที่แจ้งให้ทราบว่า รถคันไหนเป็นรถโจรกรรม จึงไม่รู้ว่าจะสกัดจับคันไหน”

นั่นคือคำกล่าวของ พล.ต.ท. ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ที่เอ่ยถึงปัญหาในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะนี้ ซึ่งหากตำรวจสามารถจัดตั้งคณะทำงานและประสานงานจนครบวงจรสำเร็จ เชื่อว่าตัวเลขของการจับกุมได้รถคืนจะเพิ่มสูงขึ้นและประชาชนเจ้าของรถทุกคนคงอุ่นใจได้มากกว่าเดิมอย่างแน่นอน

No comments:

Post a Comment