Sunday, May 16, 2010

ข่าวรถหายติดตามได้คืนเพราะGPS

ลองติดตามอ่านกันดูนะครับ
พ.ต.อ.อาณัติ เกล็ดมณี รองผบก.น. 4 นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดจู่โจม บก.น.4 พร้อมหมายศาลจ.มีนบุรี ที่ 318/2553 ลงวันที่ 6 พฤภาคม 2553 เข้าตรวจค้นอู่มานิตย์เจริญยนต์ เลขที่ 85/1 ซอยเสรีไทย 64 แขวงและเขตมีนบุรี กทม. ภายหลังจากสืบทราบว่าเป็นแหล่งชำแหละอะไหล่รถยนต์ที่โจรกรรมมา พ.ต.อ.ธีระพงษ์ คล้ายแก้ว ผกก.สน.บางชัน กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.บางชัน ได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กระทุ่มแบน ว่ามีผู้เสียหายถูกโจรกรรมรถยนต์แล้วนำมาส่งให้กับอู่ในเขตพื้นที่ สน.บางชัน จึงขอหมายศาลและประสานเจ้าหน้าที่ จาก ศปรน.เข้าตรวจค้น ซึ่งจากการตรวจค้น พบซากอะไหล่รถยนต์ที่ชำแหละแล้วจำนวนมาก รวมทั้งรถยนต์ที่ยังไม่ได้ผ่านการชำแหละ แต่มีการแจ้งหายเอาไว้ นอกจากนี้ยังพบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด จำนวน 14 แผ่น โดยพบว่ามีจำนวน 7 แผ่น ได้แจ้งหายเอาไว้ เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมดไว้ตรวจสอบ โดยขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังตรวจค้นภายในอู่ดังกล่าวพบนายมานิตย์ มยุเรศ อายุ 53 ปี แสดงตัวเป็นเจ้าของอู่ และยังเป็นเจ้าของเต้นท์รถมานิตย์ยานยนต์ ที่อยู่ด้านหน้าปากซอยเสรีไทย 64 โดยพบว่ามีลูกน้องอยู่ภายในอู่อีก 5 คน จึงควบคุมตัวไปสอบปากคำ จากการสอบสวน นายมานิตย์ กล่าวว่า ตนเป็นเจ้าของอู่ดังกล่าว โดยเช่ามาได้ 5 ปี แล้ว เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาตนเดินทางมาถึงอู่ตอน 10 โมงเช้า พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจสอบที่อู่แล้ว สำหรับอู่ของตนรับซ่อมรถและรับทำสี โดยรถยนต์ที่พบในอู่ เพื่อนได้นำมาฝากให้ทำสี ส่วนแผ่นป้ายทะเบียนที่พบจำนวนหลายป้ายนั้น ลูกน้องไปเก็บเอามาจากบริเวณจุดที่มีการเกิดอุบัติเหตุรถชน และมีการทิ้งแผ่นป้ายเอาไว้ ส่วนรถยนต์กระบะที่ผู้เสียหายแจ้งว่าถูกขโมยมา ตนไม่รู้ว่ามาจอดที่อู่ได้อย่างไร ซึ่งตนขอปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการโจรกรรมรถยนต์ ด้าน นายคัมภีร์ บริบุญมังสา อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 74/204 ม.2 หมู่บ้านดำรงค์ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบบ จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ตนเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะ อีซูซุ ดีแมค สีแดง หมายเลขทะเบียน ณง 3878 กทม. ซึ่งตนซื้อรถมาได้ 7 ปี แล้ว โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาตนได้จอดรถไว้ที่หน้าบ้าน แต่เมื่อตื่นมาตอน ตี 4 ก็พบว่ารถหายไป จึงรีบไปแจ้งความที่ สภ.กระทุ่มแบน จากนั้น ตนก็ประสานไปที่บริษัทที่ตนติดจีพีเอสเอาไว้ ทำให้รู้ว่ารถถูกขโมยไปตั้งแต่ตอน ตี2 และถูกนำมาจอดไว้ในอู่ย่านบางชัน ก่อนที่สัญญาณจะถูกตัดไปเวลา 6 โมงเช้า ตนจึงนั่งรถแท็กซี่ตามมาที่อู่ดังกล่าว พร้อมทั้งแจ้งความไปที่ สน.บางชัน ให้มาช่วยตรวจสอบ "เมื่อมาถึงพบว่าฝากระโปรงหน้ารถ และหลังคา ถูกชำแหละออกไป ภายในคอนโซลรถด้านหน้าถูกถอดออกไป นอกจากนี้แผ่นป้ายทะเบียนถูกถอดออกไป โชคดีที่ตนติดจีพีเอสเอาไว้ ทำให้สามารถติดตามมาที่อู่จนได้รถคืน ถึงแม้จะถูกชำแหละไปบ้างแล้ว" ขณะที่ พ.ต.ท.อรรถพร เลิศสุริยะ รองผกก.2 บก.สส.บช.น. กล่าวว่า จากการตรวจสอบรถยนต์ที่จอดอยู่ภายในอู่ ยังพบรถยนต์กระบะอีซูซุ สปาร์ค อีเอ็กซ์ สีแดง หมายเลขทะเบียน ลฐ 9612 กทม. ของนาวาอากาศโทไตรรัตน์ เกียรติภัทราภร ซึ่งได้แจ้งหายเอาไว้ที่ สน.สายไหม อยู่ด้วย ซึ่งจะประสานให้มาตรวจสอบ นอกจากนี้เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี ได้มีการแถลงข่าวจับกุมผุ้ต้องหาลักรถยนต์ จำนวน 2 คน ซึ่งผู้ต้องหาได้รับสารภาพว่า ได้นำรถยนต์ส่งมาที่แห่งนี้ จำนวน 10 คัน ที่สำคัญยังตรวจสอบพบบัญชีของขบวนการลักรถทั้งหมด ซึ่งพบว่าเป็นขบวนการใหญ่ ขอบคุณทีนิวออนไลน์

Friday, May 7, 2010

2 ยี่ห้อดัง (โตโยต้า-อีซูซุ) แชมป์รถหาย ตำรวจยกเครื่องลุยโจร

โตโยต้า-อีซูซุ สลับครองตำแหน่งรถหายมากสุด ส่วนรถจักรยานยนต์ ฮอนด้า ขึ้นแท่น ที่สำคัญเขตนครบาลคว้าแชมป์ท้องที่รถหายอันดับหนึ่ง แต่ปีนี้ตำรวจยิ้มออกเหตุยอดรถหายทั่วประเทศลดลงเฉลี่ยเดือนละ 200 กว่าคัน แถมหลังเปลี่ยนแม่ทัพได้มีการยกเครื่องกำลังพลใหม่เพื่อลุยปราบปรามโจรกรรมรถยนต์แบบทันควัน ..ยอมรับรู้ทุกช่องทางการขโมย แม้ล่าสุดพบโจรเปลี่ยนวิธีใหม่ทั้งดาวน์รถขับไปส่งและแจ้งทำทีรถหาย หรือปลอมทะเบียนขายต่อ ..เชื่อจัดการได้พร้อมเตรียมเชื่อมด่านสกัด 51 จุดตัดทางส่งรถออกไปประเทศเพื่อนบ้าน แนะเจ้าของรถอย่าจอดรถล่อใจโจร

“รถหาย” เหตุการณ์ที่ไม่มีเจ้าของรถคนใดอยากเจอ แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร “ตำรวจ” คือที่พึ่งแรกของประชาชน โดยในอดีตตำรวจเคยมีศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ แต่ปัจจุบันได้มีการยกเลิกศูนย์ดังกล่าวทำให้มีข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น? แล้วประชาชนจะทำอย่างไรหากรถหาย

ตำรวจปรับกลยุทธ์ใหม่

เดิมสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์, รถจักรยานยนต์ และศูนย์ปราบปรามอื่นๆ อีกหลายประเภท แต่หลังจาก พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้ามารับตำแหน่งได้ปรับลักษณะการทำงานใหม่ โดยยุบศูนย์ฯ และเปลี่ยนเป็นหน้างานแทน ซึ่งในทางทฤษฎีจะมีผลให้การทำงานดีขึ้น เนื่องจากในระดับปฏิบัติการของโรงพักไม่ว่าจะมีกี่ศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ทำงานจะเป็นชุดเดียวกัน

เมื่อปรับลักษณะงานใหม่ พล.ต.ท. ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. (สป1) ได้เข้ารับผิดชอบงานด้านปรามปรามการโจรกรรมรถยนต์และจักรยานยนต์พร้อมเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยปฏิบัติงานด้านปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ทันที และมีการตั้งทีมประสานเพื่อให้การทำงานครอบคลุม

ทั้งนี้ จากการประชุมใหญ่ของตำรวจสายปราบปรามระดับหัวหน้างานขึ้นไปปรากฎว่าเสียงส่วนใหญ่ของตำรวจโหวตให้ เรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนของสายงานปราบปรามก็คือ “งานด้านการโจรกรรมรถยนต์” เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างให้กับเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

นครบาลหายมากสุด

สำหรับท้องที่ซึ่งมีสถิติรถหายมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร พื้นที่รับผิดชอบของตำรวจนครบาล ส่วนท้องที่ลำดับรองลงมาคือ ภูธรภาค 1, 2 และ 7 โดยนครบาลมีตัวเลขสถิติแจ้งรถยนต์หาย ปี 2550 ช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) จำนวน 411 คัน ส่วนรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 2,580 คัน เท่ากับ1 ใน 4 ของจำนวนรับแจ้งรถหายทั่วประเทศอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ตัวเลขสถิติรถหายจะมากระจุกตัวอยู่ในเขตนครบาล เพราะจำนวนรถเขตกรุงเทพมหานครมีจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่อันจำกัดของชีวิตคนเมืองทำให้เจ้าของรถหลายๆ คัน จำเป็นต้องจอดรถไว้ในสถานที่เสี่ยงต่อการสูญหาย ซึ่งเป็นเหตุให้มิจฉาชีพลงมือโดยง่าย

ขณะที่ยี่ห้อรถยอดนิยมของการถูกโจรกรรมสอดคล้องกับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศไทย โดยรถปิกอัพมีสถิติถูกโจรกรรมมากสุดได้แก่ โตโยต้า และอีซูซุ, รถเก๋ง ได้แก่ โตโยต้าและฮอนด้า ส่วนรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้าครองตำแหน่งหายมากที่สุด

แนวโน้มหายน้อยลง

แม้จำนวนรถหายจะเพิ่มขึ้นแต่หากเมื่อพิจารณาดูถึงตัวเลขยอดจำหน่ายทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติรถหายจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนคันปี 2549 แต่สถิติรถหายกลับเพิ่มเพียงเล็กน้อยคือประมาณ 20 กว่าคัน ส่วนยอดขายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นปีละเกือบ 2 ล้านคัน แต่หายเพิ่มเพียงไม่กี่พันคัน ดังนั้นการจะพูดว่ารถหายเพิ่มขึ้นคงจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

จากการที่สถิติรถหายมีแนวโน้มลดลง เมื่อดูจากตัวเลขสถิติการสูญหายปี 2550 เทียบกับปี 2549 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น เกิดจากการขยายผลของตำรวจ ที่รู้ว่าเมื่อรถหายแล้วไปอยู่ไหน ทำให้สามารถติดตามแหล่งที่รถหายไปได้ดีขึ้น

ช่องทางรถหาย-โจรกรรมแบบใหม่

ตำรวจอธิบายว่า เดิมรถที่โดนโจรกรรมช่องทางหนึ่งจะถูกชำแหละ ถอดขายเป็นชิ้นส่วนอะไหล่ อีกช่องทางคือส่งขายต่างประเทศ เช่น เขมร พม่า ลาว หรือช่องทางที่ 3 รถที่ขโมยไปสวมซากรถที่มีทะเบียนถูกต้อง แล้วนำไปขาย หรือนำรถที่ขโมยไปปลอมคู่มือจดทะเบียนและแผ่นป้ายทะเบียน ทั้งเอาไปขายและใช้เอง นอกจากนั้นยังมีการขโมยรถจากต่างประเทศเอาสวมซากแล้วขายในบ้านเรา

“เชื่อว่า หากตำรวจท้องที่ขยันออกตรวจตามเต้นท์ขายรถมือสอง จะต้องพบรถผิดกฎหมายซ่อนอยู่อย่างแน่นอน” หนึ่งในคำปรารภของ พล.ต.ท. ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ที่เอ่ยออกมา โดยมุ่งหวังให้ผู้ใต้บังคับบัญชาออกปฏิบัติงานเพื่อประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งในปัจจุบัน การโจรกรรมเปลี่ยนรูปแบบไป เริ่มมีลักษณะของการทำฉ้อฉลประกันภัย คือ คนร้ายจะไปเช่าซื้อรถจากบริษัทไฟแนนซ์ แล้วเอาไปขายต่างประเทศ จากนั้นไปแจ้งความว่ารถถูกขโมย เพื่อขอรับเงินจากบริษัทประกันภัย ซึ่งพฤติกรรมนี้ทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากและเกิดปัญหากับตำรวจเช่นกันเพราะความจริงรถไม่ได้หาย แต่เป็นการฉ้อฉล โดยขณะนี้ตำรวจกำลังเร่งประสานกับบริษัท ประกันภัยเพื่อขอข้อมูล และหาวิธีจัดการอยู่

ไม่เพียงแต่บริษัทประกันภัยเท่านั้นที่เสียหาย บริษัทเช่ารถก็โดนในลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยคนร้ายจะปลอมโฉนดที่ดินหรือหลักประกันอื่นอาทิ สมุดธนาคาร แล้วเอาไปเช่ารถจาก บริษัทเช่ารถยนต์ เมื่อได้รถที่เช่ามาแล้ว จะเรียกค่าไถ่รถจากบริษัทเช่ารถ หรือไม่ก็นำไปขายยังต่างประเทศ รูปแบบใหม่อีกวิธีหนึ่งคือนำเอารถที่โจรกรรม, เช่า หรือรับจำนำ มาปลอมทะเบียน แล้วขายทางนสพ. อินเตอร์เน็ต ขายตรงให้กับผู้ซื้อรถโดยทั่วไป ทั้งหมดเป็นพัฒนาการของขโมยยุคใหม่ที่ตำรวจกำลังเร่งจัดการอยู่

สำหรับวิธีการป้องกันรถหาย ทางตำรวจแนะนำว่า ไม่ควรนำรถมาจอดในที่สาธารณะ หรือหากมีเหตุจำเป็นเช่นไปเดินซื้อของก็ควรนำรถไปจอดในจุดที่มีคนดูแล อาจจะต้องเสียเงินบ้างเล็กน้อยแต่ดีกว่ารถหายทั้งคัน เพราะจากสถิติสถานที่ซึ่งเกิดเหตุโจรกรรมมากที่สุดคือ จุดที่เป็นทางสาธารณะ เช่นหน้าบ้าน ริมถนน หรือตามซอยต่างๆ

เทียบสถิติรถหาย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยตัวเลขสถิติการโจรกรรมรถยนต์ทั่วประเทศ พ.ศ. 2548 มีการแจ้งความรถยนต์สูญหาย 2,820 คัน สกัดจับได้รถคืน 194 คัน พ.ศ. 2549 สูญหาย 2,841 คัน ได้คืน 186 คัน และพ.ศ. 2550 เฉพาะ 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.) สูญหาย 888 คัน ได้คืน 102 คัน

ส่วนรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2548 สูญหาย 17,523คัน ได้คืน 2,382 คัน พ.ศ. 2549 สูญหาย 20,478 คัน ได้คืน 2,686 คัน พ.ศ. 2550 เฉพาะ 4 เดือน(ม.ค.-เม.ย.) สูญหาย 6,418 คัน ได้คืน 1,033 คัน ตัวเลขทั้งหมดเป็นการรายงานเบื้องต้นหมายถึงมีการแจ้งความว่ารถหายและสกัดจับได้ทันทีหลังจากนั้นอีก1 เดือน หรือ 2 เดือน มีการสืบจับได้รถคืนแต่ไม่มีการเก็บสถิติเอาไว้ และในความเป็นจริงรถหายอาจจะมีมากกว่านี้ เพราะประชาชนบางคนรถหายแล้วไม่แจ้งความมีอยู่บ้าง

สถิติรถหายและการได้คืน
ปี 2548 ปี 2549 ปี 2550 (ม.ค.-เม.ย.)
ประเภทรถ สูญหาย ได้คืน สูญหาย ได้คืน สูญหาย ได้คืน
รถยนต์ 2,820 194 2,841 186 888 102
รถจักรยานยนต์ 17,523 2,382 20,478 2,686 6,418 1,033

รถหายแจ้ง 191

หากเกิดเหตุรถหาย สิ่งแรกที่ควรทำคือโทรศัพท์ แจ้ง 191 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลในส่วนของวิทยุเพื่อสกัดจับตลอด 24 ชม. แล้วจึงไปแจ้งความที่โรงพัก

ปัญหาของตัวเลขการสกัดจับได้รถคืนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนที่แจ้งความสูญหาย ก็เนื่องจากขาดติดต่อประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ซึ่งรับแจ้งเหตุกับด่านทั้ง 51 แห่งตามแนวชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตรงจุดนี้ตำรวจกำลังตั้งคณะทำงานเพื่อประสานงานหลังรับแจ้งเหตุรถหายจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดสกัดชายแดนได้ทราบถึงข้อมูล ยี่ห้อและลักษณะของรถที่ถูกโจรกรรม อันเป็นเบาะแสที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถสกัดจับรถต้องสงสัยได้ ที่ผ่านมาจุดสกัดตามแนวชายแดนทั้ง 51 แห่งนี้ไม่ได้รับรายงานเรื่องลักษณะของรถที่ถูกโจรกรรม ทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

“เรารู้ทุกช่องทางของการพารถหนี แต่ปัญหาคือ ไม่มีการให้ข้อมูลรถคันที่หายแก่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งประจำอยู่ ณ จุดตรวจ เช่น เมื่อลักรถมาแล้วจะเอารถออกทางจังหวัดสระแก้ว จะต้องใช้เส้นทางกระบินทร์ ซึ่งตำรวจทางหลวงมีด่านอยู่ ถ้าตำรวจตรงนั้นตั้งใจทำงานออกตรวจ เชื่อว่าจะสามารถจับกุมได้ทุกวัน แต่ติดปัญหาเรื่องข้อมูลที่แจ้งให้ทราบว่า รถคันไหนเป็นรถโจรกรรม จึงไม่รู้ว่าจะสกัดจับคันไหน”

นั่นคือคำกล่าวของ พล.ต.ท. ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ที่เอ่ยถึงปัญหาในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะนี้ ซึ่งหากตำรวจสามารถจัดตั้งคณะทำงานและประสานงานจนครบวงจรสำเร็จ เชื่อว่าตัวเลขของการจับกุมได้รถคืนจะเพิ่มสูงขึ้นและประชาชนเจ้าของรถทุกคนคงอุ่นใจได้มากกว่าเดิมอย่างแน่นอน

กระบวนการ ของคนร้ายในการโจรกรรมรถ ประกอบด้วย 5 ฝ่าย คือ

1.ฝ่ายผู้ส่งรถหรือนายหน้าส่งออก หมายถึงผู้สั่งหรือติดต่อกับฝ่ายโจรกรรมรถให้ขโมยรถยนต์และจักรยานยนต์ตามยี่ห้อ แบบ ขนาด สี ฯลฯ หรือภาษาโจรเรียกว่า ตามใบสั่ง ที่ต้องการเพื่อใช้ในประเทศหรือส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

2.ฝ่ายโจรกรรมรถ คือพวก โจรหรือคนร้ายที่ลักรถยนต์และจักรยานยนต์อย่างเดียว จะใช้วิธีต่าง ๆ เช่น งัดหูช้าง ทำกุญแจปลอม เพื่อขโมยรถตามที่ต้องการ, โจรที่ยักยอกรถไปขาย เช่น ซื้อมาจากบริษัทผู้ขายระบบผ่อน แล้วยักยอกไปขายให้ผู้อื่น ส่วนใหญ่ส่งไปขายยังประเทศกัมพูชา จากนั้นไปแจ้งความว่ารถหาย เป็นวิธีที่ทำกันมากจนสถิติแจ้งความรถหายพุ่งสูงขึ้น, โจรที่ปล้นรถหรือชิงรถ โดยใช้วิธีปล้นชิงรถที่จอดในที่เปลี่ยวหรือตามปั๊มน้ำมัน ฉะนั้น เวลาเราจอดรถลงไปทำธุระไม่ควรสตาร์ท รถเสียบกุญแจทิ้งไว้เพราะจะมีโจรพวกนี้คอยดักโจรกรรมรถอยู่, โจรหลอกลวงเพื่อให้ได้รถ จะใช้ วิธีติดต่อขอซื้อรถและใช้อุบายทดลองขับแล้วหนีหรือใช้อุบายเช่ารถเดินทางไปต่างจังหวัดและนำ ไปขาย

3.ฝ่ายขนส่งหรือนำรถไปยังจุดที่กำหนด คนร้ายฝ่ายนี้มีชื่อเรียกกันในวงการโจรว่า ?นักบิน? มีหน้าที่รับจ้างขับรถจากฝ่ายผู้สั่งซื้อหรือนายหน้าเพื่อนำไปส่งยังจุดที่กำหนด อัตราค่าจ้างขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการขับ ชนิดรถและความเสี่ยง มีราคาตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท ส่วนใหญ่คนร้ายฝ่ายนี้จะเป็นคนในท้องถิ่นบริเวณชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพราะรู้จักเส้นทางเป็นอย่างดี โดยจะนำรถที่โจรกรรมมาขับไปจอดซุกซ่อนไว้ในป่ารกร้างลับสายตาผู้คนตามตะเข็บชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน รอเวลาขนส่งข้ามแดนต่อไป

4.ฝ่ายผู้ซื้อ จะมีทั้งคนไทยที่ต้องการรถที่ถูกโจรกรรมใช้ในประเทศโดยใช้ทั้งคันหรือซื้อแบบแยกชิ้นส่วน และคนในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศกัมพูชามีความต้องการสูงเนื่องจากราคาถูกกว่าซื้อในประเทศไทย

5.ฝ่ายปลอมแปลงเอกสารประจำรถ เอกสารที่ปลอมแปลงมีแผ่นป้ายทะเบียนหน้า-หลัง แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีและสมุดคู่มือประจำรถ ซึ่งในปัจจุบันมีการปลอมแปลงเอกสารลอกเลียนแบบที่เหมือนของจริงมากจนแยกไม่ออก ว่าอันไหนของจริงอันไหนของปลอม จนตำรวจต้องพยายามศึกษาเอกสารจริง-ปลอมว่าเป็นอย่างไร หากพบผิดปกติจะได้จับกุมคนร้ายได้ทันท่วงที

อันดับสุดยอดรถหายประจำปี 2551-2552

ประเภทรถยนต์นั่ง

อันดับ 1 ได้แก่ ....Honda Jazz เป็นรถยอดนิยม และผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นสตรี สียอดนิยมที่มักจะหาย คือ สีขาว แต่ที่ขโมยก็ขโมยทุกสี ไม่เลือก (ข้อมูลบางส่วนจากรายการห้องสืบสวนหมายเลข9 ออกอากาศเมื่อวันที่ 22/6/2009 ตำรวจจับได้หนึ่งแก๊งค์ โดยเมื่อขโมยมาแล้ว มีการนำไป Post ขายใน web site ราคาหลักหมื่น และจดทะเบียนปลอม ตำรวจทำการตามสืบข้อมูลจาก web เห็นความผิดปกติของราคาขาย จึงได้ทำการล้อซื้อ และจับได้ในที่สุด)

อันดับ 2 ได้แก่.... Toyota Vios เป็นสุดยอดรถหายแห่งปี เพราะเป็นที่นิยมของประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยรูปทรงที่กะทัดรัด คล่องแคล่ว อะไหล่หาง่าย และสีหายยอดนิยมก็คือ สีบรอนซ์เงิน สีบรอนซ์เทา สีดำ

อันดับ 3 ได้แก่....Toyota Yaris ตกหล่นมาจากอันดับ 2 และ สีที่หายยอดนิยมได้แก่ สีแดง ครับ

อันดับ 4 ได้แก่ ....Honda Civic เนื่องจากรถ Honda ถือว่าเป็นรถมีระดับในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น Civic เก่า หรือใหม่ ก็สามารถส่งขายได้หมด เหมือนกัน สีที่หายยอดนิยมก็คือ สีดำ สีขาว สีบรอนซ์เทา

ส่วนรถยนต์นั่งที่เป็นใบสั่งตอนนี้ Jazz , Vios , Camry ส่วนรถกระบะก็ยังเป็น Vigo และ DMAX ที่หายกันได้หายกันดีทุกวัน วันละหลายคัน

ประเภทรถตู้
Toyota New Hiace Ventury ก็ไม่รู้ว่ารถตู้รุ่นใหม่ๆ นี่คันบะเริ่ม มันขโมยไปได้อย่างไรเหมือนกันครับ และสีที่หายยอดนิยม กลับเป็นสีขาว

ประเภทรถกระบะ

อันดับ 1 Toyota Vigo หายได้ทุกรุ่น ทุกสี โดยเฉพาะ รุ่นแค็ป ขับสองธรรมดา จะหายทุกๆวัน วันละหลายๆคัน

อันดับ 2 Isuzu Dmax หายได้ทุกรุ่นเหมือนกัน แต่รุ่นที่หายยอดนิยมกลับเป็น Hi-Lander ยกสูง นัยว่า เข้าตาประเทศเพื่อนบ้าน

สถิติรถหาย และ เมื่อรถหายต้องทำอย่างไร

รถหายให้รีบแจ้งรายละเอียด แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ ทราบโดยเร็ว หรือโทรหมายเลขพิเศษ 1192 (ศปร.ตร.) ตลอด24ชั่วโมง เพื่อความรวดเร็ว ในการติดตามสกัดจับคนร้าย และเพื่อความรวดเร็วในการกระจายข่าวสาร, ข้อมูลของรถที่ถูกโจรกรรม ไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง คือ ตำรวจทางหลวง, ตำรวจตระเวนชายแดน, ตำรวจภูธรภาค 1-9, กองบัญชาการตำรวจนครบาล, สถานีตำรวจภูธรตามแนวชายแดน, กองกำลังบูรพา, กองกำลังป้องกันชายแดน จันทบุรีและตราด
กรณีที่ท่านติดอุปกรณ์ GPS Tracker จีพีเอสติดตามยานพาหนะ ท่านก็สามารถทราบว่าขณะนั้นรถของท่านที่ถูกขโมยอยู่ที่ใด และทำการประสานงานกับตำรวจในการติดตามจับกุม หรือพวกรถเช่าที่ถูกนำไปขับและไม่ส่งคืนเป็นต้น
สถิติรถหายประจำปี 2551 (ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
- การโจรกรรมรถ 2712 คดี และ จับได้ 272 คดี คิดเป็น 10.03 %
- การโจรกรรมมอเตอร์ไซค์ 20039 คดี จับได้ 3588 คดี คิดเป็น 17.91 %